ประวัติการเรียบเรียง การแปลและการตีพิมพ์ ของ กาเลวาลา

สองพี่น้อง Poavila และ Triihvo Jamanen กำลังขับลำนำพื้นบ้านฟินแลนด์ ที่หมู่บ้าน Uhtua ในปี ค.ศ. 1894 ปัจจุบันคือสาธารณรัฐคาเรเลีย

บทกวีพื้นบ้านของฟินแลนด์

บทกวีพื้นบ้านของฟินแลนด์เริ่มมีการจดบันทึกไว้ตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1670 และมีการเก็บบันทึกไว้อย่างกระจัดกระจายตลอดช่วงทศวรรษต่อๆ มา จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงเริ่มมีการรวบรวมและจัดเก็บให้เป็นระบบมากขึ้น บทกวีที่รวบรวมได้ในช่วงนี้มีมากกว่าสองล้านบท ในจำนวนนี้ 1.25 ล้านบทได้มีการเผยแพร่ ส่วนที่เหลือได้แต่เก็บเอาไว้ในสมาคมวรรณกรรมแห่งฟินแลนด์ ในเอสโตเนีย ในสาธารณรัฐคาเรเลีย และในบางส่วนของรัสเซีย

เอเลียส เลินน์รูต กับนักวิชาการยุคเดียวกันหลายคน (เช่น เอ. เจ. โซเจริน และ ดี.อี.ดี.ยูโรเปอุส)[3] ต่างรวบรวมบทกวีไว้จากแหล่งต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ในหมู่ชาวบ้านท้องถิ่นตลอดทั่วดินแดนคาเรเลียและอิงเกรีย พวกเขาจดบันทึกชื่อและอายุของผู้ขับลำนำ สถานที่ที่มีการขับลำนำเหล่านั้น รวมทั้งวันที่เก็บข้อมูล เลินน์รูตออกเก็บข้อมูลภาคสนามถึง 7 ครั้งตลอดช่วงระยะเวลา 9 ปี โดยเริ่มการสำรวจครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ. 1828[3] ในระหว่างการออกเก็บข้อมูลครั้งที่ 4 ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1833 เมื่อเขารับฟังเรื่องราวของบทกวีและการแสดงบทลำนำ รวมถึงความเห็นต่อเรื่องราวเหล่านั้นที่แปลมาในภาษาที่เขาเข้าใจได้แล้ว เขาก็บังเกิดความคิดขึ้นว่า บทกวีมากมายเหล่านั้นน่าจะเล่าถึงเรื่องราวต่อเนื่องบางอย่างซึ่งเป็นเรื่องที่กว้างใหญ่กว่านั้น

ชาวบ้านขับร้องบทกวีด้วยลำนำตัวโน้ตห้าเสียง (Pentachord) บางครั้งก็ใช้เครื่องดนตรี กันเตเล (Kantele) มาช่วย จังหวะการร้องเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ท่วงทำนองจะประกอบด้วยกลุ่มตัวโน้ต สอง หรือสี่ บรรทัด แต่ละบรรทัดมี 5 บีท บางครั้งบทลำนำก็แตกต่างกันมาก แต่บางครั้งกลับสามารถร้องประสานกันได้เหมาะเจาะจากผู้ขับลำนำที่เข้าใจประเพณี ทั้งที่บทกวีเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลและมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมากในแต่ละกลุ่มชุมชน แต่มันกลับสามารถร้องด้วยท่วงทำนองเดียวกัน หรือเรียกเฉพาะเจาะจงได้ว่าเป็นฉันทลักษณ์แบบ archaic trochaic tetrametre นอกจากนี้ยังมีคุณลักษณะของการสัมผัสอักษร (alliteration) การสะท้อนรูปประโยค (parallelism) รวมถึงลักษณะการเล่นคำสลับที่ (chiasmus) ซึ่งคล้ายคลึงกันอีกด้วย

แต่วันเวลาซึ่งสร้างสรรค์บทกวีมุขปาฐะเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อใดไม่แน่ชัด บทกวีช่วงที่เก่าแก่ที่สุด คือส่วนที่กล่าวถึงการสร้างโลก น่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ขณะที่เนื้อหาในช่วงหลังที่กล่าวถึงการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ น่าจะเกิดขึ้นในช่วงยุคเหล็ก

นักขับลำนำกาเลวาลาจำนวนมากที่เลินน์รูตได้ไปพบ มีคนสำคัญที่ควรเอ่ยถึงไว้ดังนี้

  • Arhippa Perttunen (ค.ศ. 1769–1840)
  • Matro
  • Ontrei Malinen (ค.ศ. 1780–1855)
  • Vaassila Kieleväinen
  • Soava Trohkimainen

การเรียบเรียงงานของเลินน์รูต

เลินน์รูตนำบทกวีทั้งหมดมาจัดลำดับใหม่ให้ปะติดปะต่อเรื่องราวกันได้ เขานำบทกวีบางชุดมารวมเข้าด้วยกัน จัดหมู่ตัวละคร และตัดบทกวีบางบททิ้งไปที่ดูไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง เพื่อพยายามเรียบเรียงให้ออกมาเป็นโครงเรื่องที่มีเหตุผล เขายังตั้งชื่อบางชื่อขึ้นใหม่เพื่อใช้แทนตัวละครบางตัวให้เป็นชื่อเดียวกันตลอดทั้งเรื่อง ในกาเลวาลาฉบับเรียบเรียงใหม่นี้ ประเมินได้ว่า หนึ่งในสามเป็นเนื้อหาเดิมที่เขาได้มาจากนักขับลำนำ ประมาณ 50% เป็นส่วนที่เลินน์รูตปรับแต่งเล็กน้อย 14% เป็นบทกวีที่เขาเขียนขึ้นใหม่โดยอ้างอิงตามกวีหลายบทที่มีความคล้ายคลึงกัน และอีก 3% เป็นส่วนที่เขาคิดแต่งขึ้นเอง แต่ส่วนที่เป็นผลงานสำคัญของเลินน์รูตคือการที่เขาเรียบเรียงจัดลำดับบทกวีเหล่านั้นเข้าด้วยกันจนกลายเป็นมหากาพย์

ปกหนังสือ กาเลวาลา มหากาพย์แห่งฟินแลนด์ โดย จอห์น มาร์ติน ครอว์ฟอร์ด ค.ศ. 1888

การตีพิมพ์

ผลงานเรียบเรียงฉบับแรกของเลินน์รูต คือ Kalewala, taikka Wanhoja Karjalan Runoja Suomen Kansan muinoisista ajoista (กาเลวาลา, บทกวีโบราณแห่งคาเรเลีย ว่าด้วยปุราณยุคของชาวฟินแลนด์) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า กาเลวาลาฉบับเก่า ตีพิมพ์ออกมาเป็นสองเล่ม ในปี ค.ศ. 1835-1836 กาเลวาลาฉบับเก่าประกอบด้วยบทกวี 32 ชุด จำนวน 12,078 บท[4]

เลินน์รูตเรียบเรียงข้อมูลใหม่เพิ่มเติมอีก และได้จัดทำเป็นเอดิชันที่สอง ใช้ชื่อว่า Kalevala ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1849 กาเลวาลาฉบับใหม่นี้ประกอบด้วยบทกวี 50 ชุด และเป็นฉบับมาตรฐานที่ใช้ในการศึกษามหากาพย์กาเลวาลาในปัจจุบัน[4]

การแปล

กาเลวาลาได้แปลเป็นภาษาอังกฤษครบทั้งชุดรวม 5 ครั้ง และแบบบางส่วนอีกหลายครั้ง ครั้งแรกสุดแปลโดย จอห์น มาร์ติน ครอว์ฟอร์ด (ค.ศ. 1888)[5] ต่อมาแปลโดย วิลเลียม ฟอร์เซล เคอร์บี (ค.ศ. 1907) และครั้งล่าสุดโดย เยโน ไฟรเบิร์ก (ค.ศ. 1989) นอกจากนี้ เอ็ดเวิร์ด เทย์เลอร์ เฟลชเชอร์ ชาวแคนาดา ได้แปลบางส่วนของกาเลวาลาในปี ค.ศ. 1869 และนำเสนอต่อสมาคมวรรณกรรมและประวัติศาสตร์แห่งควิเบค เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 1869

ปี ค.ศ. 1963 ฟรานซิส เพียโบดี มากูน จูเนียร์ ได้แปลมหากาพย์ชุดนี้เป็นร้อยแก้ว โดยพยายามรักษาความหมายของเรื่องไว้ให้ได้มากที่สุด ในภาคผนวกของฉบับแปลครั้งนี้มีหมายเหตุจำนวนมากที่อธิบายถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของบทกวีนั้น แสดงข้อเปรียบเทียบระหว่าง กาเลวาลาฉบับเก่า กับ ฉบับที่แพร่หลายในปัจจุบัน และดัชนีคำศัพท์อธิบายถึงชื่อเฉพาะต่างๆ ที่ปรากฏในบทกวี

ปัจจุบัน กาเลวาลา ได้แปลเป็นภาษาต่างๆ แล้ว 52 ภาษา[6] และบางส่วนของเนื้อเรื่องมีการแปลออกไปแล้วกว่า 60 ภาษา

แหล่งที่มา

WikiPedia: กาเลวาลา http://altreligion.about.com/library/texts/kaleval... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/310127/K... http://scoop.diamondgalleries.com/public/default.a... http://www.economicexpert.com/a/Kullervo.htm http://www.kaiku.com/kalevalainhiawatha.html http://www.kiddiematinee.com/d-dayfroze.html http://news.nationalgeographic.com/news/2001/12/12... http://www.nodium.com/articles/398_jadesoturi-revi... http://www.progarchives.com/artist.asp?id=1588 http://www.world66.com/europe/finland/history